Friday, April 22, 2011

ห่อหมกย่าง ใส่มะพร้าวอ่อน





อุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องใช้หลัก ๆ ก็มี...อ่างผสม, กะละมัง, ทัพพี, ตะแกรง, เตาถ่านสำหรับใช้ย่าง หรือใช้เตาไฟฟ้าย่างก็ได้, ที่คีบถ่าน, ที่คีบห่อหมก, ครก, ถาด, มีด, เขียง, ไม้พาย, ไม้กลัด, ใบตองสำหรับห่อ



สำหรับวัตถุดิบที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... เนื้อปลายี่สกขูด, น้ำกะทิเข้มข้น, น้ำพริกแกงเผ็ด, ไข่เป็ดสด, เนื้อมะพร้าว, น้ำมะพร้าว, เกลือ, ใบมะกรูดหั่นฝอย ใช้โรยให้หอม ส่วนผักสดที่ใช้รองห่อหมกก็มีใบโหระพา, ใบชะพลู



ส่วนผสมของพริกแกงเผ็ด... ตะไคร้หั่นฝอย, ข่าหั่นฝอย, พริกแห้งแกะเม็ด, ผิวมะกรูด, หอมแดง, กะปิ, กระเทียม, พริกไทยดำเม็ด และกระชายซอยละเอียด



----ขั้นตอนการทำ ห่อหมกย่างมะพร้าวอ่อน เริ่มแรกต้องทำน้ำพริกแกงเผ็ดก่อน โดยการนำเอาส่วนผสมของพริกแกงเผ็ดทั้งหมดใส่ครก แล้วทำการโขลกจนละเอียด แล้วจึงใส่กะปิ ใช้สากย้ำ ๆ ให้กะปิกับน้ำพริกแกงเผ็ดเข้ากัน ตั้งพักไว้



---นำมะพร้าวอ่อนที่เตรียมไว้มาปาดฝาออก เทน้ำมะพร้าวออก ใช้เล็บแมวขูดเนื้อมะพร้าวเตรียมไว้





-----นำน้ำกะทิเข้มข้น และน้ำพริกแกงเผ็ดโขลกที่เตรียมไว้ใส่ลงในอ่าง คนให้ส่วนผสมพอเข้ากันดี จึงค่อยตอกไข่เป็ดใส่ตามลงไปในอ่าง ตามด้วยเนื้อปลาขูด น้ำมะพร้าวอ่อนพอประมาณ ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา ใช้ไม้พายคนไปเรื่อย ๆ ให้ส่วนผสมเข้ากันจนงวดข้น เทคนิคการคนส่วนผสมต้องคนไปทางเดียวเหมือนเข็มนาฬิกา ถ้าหากคนกลับไปกลับมาคนละทางจะทำให้ส่วนผสมคืนตัว



ขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำไปห่อใบตอง นำกระชายซอย ใบมะกรูดหั่นฝอย เนื้อมะพร้าวอ่อนขูด ใส่ตามลงไปในส่วนผสม คนเพียงเล็กน้อยพอให้เข้ากันทั่ว จากนั้นก็ตั้งพักไว้



นำใบตองที่เช็ดสะอาดดีแล้วมาฉีกให้ได้ขนาด 6 นิ้ว นำใบตองมาซ้อนกัน 2 ชั้น ให้ด้านมันอยู่ด้านนอก นำผักสดที่เตรียมไว้มารองก่อน แล้วจึงตักส่วนผสมที่ทำสำเร็จแล้วมาใส่แผ่ลงในใบตองพอประมาณ ให้หนาประมาณ 1 ซม. แล้วทำการห่อปิดให้มิดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ไม้กลัดปิดหัวปิดท้ายให้เรียบร้อย ก่อนจะนำไปย่างบนเตาด้วยการใช้ไฟความร้อนปานกลาง หมั่นพลิกกลับไปกลับมา จนห่อหมกย่างมีสีเหลืองหอมชวนรับประทาน ใช้เวลาในการย่างประมาณ 15 นาทีเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จ



เคล็ดลับความอร่อย---อยู่ที่น้ำพริกแกงเผ็ดซึ่งตำเอง มีกลิ่นหอมของสมุนไพรที่มากด้วยคุณประโยชน์ และเพิ่มรสชาติด้วยเนื้อมะพร้าวอ่อน



ราคาขาย ถ้าขายส่งอยู่ที่ห่อละ 8 บาท ขายปลีกห่อละ 10 บาท ทุกวันจะมีแม่ค้ามารับ---ไปขายที่ตลาดนัด โดยนำไปย่างขายเอง



ใครสนใจทำ ห่อหมกย่างมะพร้าวอ่อนขาย ก็ลองฝึกฝนหาความชำนาญกันดู หรือหากต้องการติดต่อกับตุ๊กตา-นลินรัตน์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2957-3778, 08-1935-7002, 08-1854-5495 ทั้งนี้ ปัจจุบันตุ๊กตายังเป็นวิทยากรประจำศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปทุมธานี เป็นวิทยากรพิเศษของสำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี ซึ่งสอนกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดในเรื่องงานปั้น อาหาร และขนมต่าง ๆ ด้วย.

Monday, April 18, 2011

น้ำพริก คุณ วิไล ขายดี กำไรงาม






” ช่วงที่คิดจะขายน้ำพริก ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร เรื่องรายละเอียดสินค้า อาทิ ภาชนะใส่ สติ๊กเกอร์ติดข้างกระปุก ฟิล์มหดใช้สำหรับแพ็กน้ำพริก เครื่องบดน้ำพริก แต่ทั้งหมดได้อาจารย์ที่ศูนย์อาชีพฯ ไปช่วยตระเวนเลือกซื้ออุปกรณ์ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นความประทับใจอย่างยิ่ง”

ทุกวันนี้การจะ ขายสินค้าแต่ละอย่าง ยากมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากการแข่งขันสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ชนิดว่าถ้าไม่มีอะไรโดดเด่น แตกต่าง มีคุณสมบัติเหนือชั้นกว่า ราคาจูงใจมากกว่า อยู่ในทำเลที่ดีกว่า หรือบริการดีเลิศ ก็อย่าหวังว่าลูกค้าจะให้การยอมรับ ฉะนั้น ถ้าคิดจะลงทุนเป็นเจ้าของกิจการทั้งที ควรสรรหาข้อมูลรอบด้าน มีสังคมที่กว้างขวาง ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ



ซึ่งศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน ไม่ลำพังถ่ายทอดวิชาชีพ ยังสอนเรื่องที่คนเป็นเจ้าของธุรกิจควรจะรู้ อาทิ การบริหารต้นทุน การตลาด การเข้าถึงความต้องการลูกค้า ค้าขายอย่างไรให้มีกำไร การรับมือกับคู่แข่ง วิธีแก้ปัญหาในงานนั้นๆ แหล่งซื้อวัสดุ-อุปกรณ์ ฯลฯ ทุกเนื้อหาเส้นทางเศรษฐีเชื่อว่าล้วนเป็นประโยชน์



นอกจากข้อมูลจะ สามารถนำไปใช้ได้จริงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นสำหรับสถาบันแห่งนี้คือ ครูผู้สอน ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ชนิดไม่มีกั๊ก ให้ความจริงใจ ใส่ใจ ที่สำคัญ ร่วมสร้างธุรกิจของลูกศิษย์ให้เจริญก้าวหน้า และอยู่เคียงข้างในวันที่เกิดปัญหา เฉกเช่น คุณสุธาเสก ชวนรุ่งเรือง หรือ คุณตง และ คุณวิไลวรรณ คำเวียงจันทร์ หรือ คุณหน่อย สองเจ้าของกิจการน้ำพริก “คุณวิไลวรรณ” ที่มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครตอนจะเริ่มสร้างกิจการขายน้ำพริก แต่เพราะได้อาจารย์ดี ปัจจุบันสวมบทบาทเจ้าของกิจการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว



เรียนวันเดียว ลงมือทำเลย



รับเงิน 2 ทาง ทั้งน้ำพริก & งานช่าง



คุณ ตง เริ่มต้นเล่าประวัติส่วนตัวคร่าวๆ ว่า เดิมช่วยงานด้านระบบขนส่งของพี่สาว อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทว่าไม่คิดจะปักหลักอยู่ที่ภาคใต้ เนื่องจากพื้นเพตนเอง เป็นคนจังหวัดนครนายก จนเมื่อปี 2552 ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อสร้างฐานะ และอยู่กันพร้อมหน้าครอบครัว ภรรยา และลูกสาว 3 คน



ภายหลังขยัน ช่วยงานพี่สาวได้ 4 ปี คุณตงเลือกเดินทางกลับมาตั้งตัว โดยคิดจะประกอบอาชีพที่ถนัด นั่นคือ งานช่าง แต่เพื่อให้มีความรู้รอบด้าน ประกอบกับเพิ่มความมั่นใจ ตัดสินใจเข้ารับการอบรมอย่างจริงจังที่ศูนย์อาชีพฯ ด้วยวิชากระจกโครงอะลูมิเนียม มุ้งลวดเหล็กดัด “ส่วนตัวชอบอ่านหนังสือในเครือมติชน ทำให้รู้จักศูนย์อาชีพฯ อีกทั้งมั่นใจในชื่อเสียงที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปี เวลาเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่กระทบงานประจำ ที่สำคัญ ค่าเล่าเรียนไม่แพง แถมได้รับประกาศนียบัตรสร้างความภาคภูมิใจ”


เชื่อ หรือไม่ว่า ระยะเวลาเพียง 1 วัน ที่เข้าไปรั้วฝึกอาชีพ จะสามารถทำให้คุณตงกล้าลงทุน 300,000 บาท ซื้อวัสดุ-อุปกรณ์ พร้อมกับแปลงโฉมบ้านเป็นหน้าร้าน เพื่อรับงานตกแต่งภายในโดยใช้อะลูมิเนียม แต่ทว่ากิจการดังกล่าวใช้เงินหมุนเวียนสูง ผ่านไปราว 5 เดือน เขาจึงคิดหาอีกหนึ่งอาชีพมารองรับ



“มั่นใจในความรู้วิชากระจกโครง อะลูมิเนียมมาก เพราะอาจารย์สอนดี ได้รับเทคนิคมาเพียบ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานช่างอื่นอีกสารพัด อีกทั้งได้คนงานจากอาจารย์มาช่วย ทำให้ไม่ต้องจ้างพนักงานประจำ จ้างเป็นครั้งคราว ลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก แต่ทว่าเล็งเห็นภรรยาอยู่บ้าน พอมีเวลาว่าง เลยปรึกษากันหาช่องทางสร้างรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว”



เบื้อง ต้น สองสามีภรรยาเริ่มจากนำผลไม้มาขายตามฤดูกาล แต่รายรับไม่แน่นอน ประกอบกับมีปัญหาจุกจิก หนที่สุดเลยยุติ หันมาเอาดีในการปรุงอาหารแทน “ลูกสาวทั้ง 3 คน ชอบรสมือในการทำอาหารของแม่มาก โดยเฉพาะเมนูน้ำพริกอ่อง เป็นที่โปรดปรานทั้งบ้าน ซ้ำเพื่อนบ้านก็ชมว่าอร่อย เลยจะลองทำขาย แต่เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือก เลยเข้าไปเรียนวิชาน้ำพริกกระปุก 8 รายการ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถึง 2 ครั้ง รวม 16 เมนู ยังศูนย์อาชีพฯ เดิม”



ทว่า ผู้ที่มาเรียนไม่ใช่ฝ่ายหญิง กลับเป็นสามี เหตุผลมีอยู่ว่า คุณหน่อยไม่เคยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ฉะนั้น คุณตงเลยรับหน้าที่ลูกศิษย์ที่ดี นั่นคือ ตั้งใจร่ำเรียนอย่างเต็มที่ และนำความรู้ไปถ่ายทอดต่ออย่างสุดความสามารถ “ตอนมาเรียนเป็นผู้ชายคนเดียวทั้งห้อง เมนูน้ำพริก 16 อย่าง ที่ได้ไป อาทิ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกปลากรอบ น้ำพริกเผากุ้ง น้ำพริกมะขาม น้ำพริกปลาร้าหรือแจ่วบอง น้ำพริกไตปลาเสวย น้ำพริกขิงปลาฟู น้ำพริกตาแดงมะม่วง ตาแดงไข่เค็ม นรกหมูหย็อง พริกเผาหมูหย็อง น้ำพริกกุ้งเสียบ แต่ที่ทำขายมี 9 เมนูคือ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกปลากรอบ น้ำพริกแจ่วบอง น้ำพริกเผา น้ำพริกนรกเผ็ดมาก น้ำพริกนรกเผ็ดน้อย น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกนรกแมงดา”







มั่นใจขายแพงกว่าได้



ขั้นตอนปรุง มีมาตรฐาน



สาเหตุ ที่ผู้ประกอบการรายนี้ เลือกขายน้ำพริก 9 เมนูดังกล่าว เจ้าตัว บอกว่า เป็นรสชาติที่คนนิยม วัตถุดิบหาซื้อง่าย ทำง่าย แต่เพื่อสร้างความมั่นใจ และดูกระแสตอบรับ ช่วงแรกทดลองทำให้เพื่อนละแวกบ้านช่วยชิม ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่ชอบ แต่บางส่วนอยากให้ลดความหวาน และรสเผ็ด เลยค่อยๆ ปรับส่วนผสมลงทีละ 1/2-1 ขีด และเพื่อให้ได้รสชาติคงเดิมทุกครั้ง จะเลือกใช้เครื่องปรุงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งไปเลย



สำหรับเงินลงทุน คุณตง บอกว่า เบ็ดเสร็จ 50,000 บาท ส่วนใหญ่ใช้ซื้อวัสดุ-อุปกรณ์ อาทิ เครื่องบด มอเตอร์ กระทะ เตาแก๊ส กะละมังสเตนเลส โต๊ะ-เก้าอี้อะลูมิเนียม ตู้ เครื่องครัวจุกจิก และวัตถุดิบหมุนเวียน



เมื่อมั่นใจในรสชาติ น้ำพริกว่าอร่อย ถึงขั้นขายได้ สองสามีภรรยาไม่รอช้า ทำจำหน่ายทันที สักระยะเริ่มคิดการณ์ไกล อยากขยายกิจการให้ได้มาตรฐาน และคิดจะขยายจากครัวเรือน เป็นอุตสาหกรรม นั่นคือ ต้องมีเครื่องหมาย อย. และ มผช. มาการันตี “ถ้าคิดจะขายของกิน ต้องให้ลูกค้ามั่นใจ ว่ากินแล้วปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย อีกทั้งส่วนมากเมนูน้ำพริก ผู้หญิงจะนิยมกินมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเพศหญิง มีความละเอียด รอบคอบ ก่อนกินมักสำรวจผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ฉะนั้น ถ้าคิดจะทำธุรกิจให้ยั่งยืน และรองรับการเติบโต ต้องมีเครื่องหมายที่ทุกคนยอมรับ นั่นคือ อย. และตอนนี้กำลังขอ มผช.”



เมื่อ ได้เครื่องหมาย อย. มาตีตราน้ำพริก ทำให้ยอดขายดีขึ้นบ้างหรือไม่ ได้ความว่า ยอดขายดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเพิ่งเปิดตลาดได้เพียง 4 เดือน แต่ขณะนี้พยายามเพิ่มช่องทางขาย อาทิ ออกงานกับหน่วยงานภาครัฐ ออกบู๊ธตามอำเภอ ขายตามตลาดนัด ฝากขายตามร้านขายของที่ระลึก ร้านขายของชำ ออกโฆษณาวิทยุชุมชน แต่ที่มีออร์เดอร์เข้ามามากที่สุดคือ ลูกสาวคนโตช่วยนำไปจำหน่ายที่ทำงาน



สำหรับกำลังการผลิต และแรงงาน เจ้าของกิจการ บอกว่า ทุกวันนี้ภรรยาผัดน้ำพริกได้วันละ 12-15 กิโลกรัม ส่วนแรงงานล้วนเป็นคนในครอบครัว แต่หากกิจการดีขึ้น จำเป็นต้องจ้างพนักงาน จะเน้นเป็นผู้หญิงก่อน เพราะมีนิสัยรักการทำอาหาร ละเอียด รอบคอบ พิถีพิถัน



เมื่อกิจการมีกระบวนการผลิตเป็นมาตรฐาน ถามว่า ส่งผลต่อต้นทุน หรือราคาขายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ทราบจากคุณตงว่า ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้ออยู่แล้ว ว่าเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง เพราะราคาน้ำพริก จะแพงกว่าในท้องถิ่น 5 บาท เนื่องจากใช้วัตถุดิบดี มีคุณภาพ “เราเน้นที่รสชาติ ความสะอาด และเน้นทำตามสูตรที่ได้เรียนมา ดังนั้น วัตถุดิบและส่วนผสมที่ใส่ นอกจากเลือกแต่ของดี ยังไม่สามารถลดจำนวนลงได้ ฉะนั้น ถ้าลูกค้าได้ลองชิม จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติอร่อย”



เคยท้อแต่ไม่ถอย



ได้ครูดี ช่วยเหลือทุกอย่าง



ปัจจุบัน แหล่งซื้อวัตถุดิบ อาทิ พริก หัวหอม กระเทียม ของแห้งต่างๆ คุณตงกับภรรยา จะซื้อที่ตลาดไท และในจังหวัดนครนายก ส่วนภาชนะใส่น้ำพริก ซื้อที่บางใหญ่ ฟิล์มหด ซื้อที่เขตราชวงศ์ และกว่าเจ้าตัวจะทราบแหล่งจำหน่ายของใช้จำเป็นทั้งหมด เรียกว่าเคยสิ้นหวัง จนเกือบยุติกิจการ



“ช่วงที่คิดจะขายน้ำพริก ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร เรื่องรายละเอียดสินค้า อาทิ ภาชนะใส่ สติ๊กเกอร์ติดข้างกระปุก ฟิล์มหดใช้สำหรับแพ็กน้ำพริก เครื่องบดน้ำพริก แต่ทั้งหมดได้อาจารย์ที่ศูนย์อาชีพฯ ไปช่วยตระเวนเลือกซื้ออุปกรณ์ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นความประทับใจอย่างยิ่ง”



ถือได้ว่ายามลูกศิษย์มี ปัญหา ครูย่อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ชนิดว่าตอนนี้ น้ำพริกคุณวิไลวรรณ แทบไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งซื้อของใช้จำเป็น จะมีก็แต่เรื่องระยะทาง เพราะอาศัยอยู่ต่างจังหวัด



สำหรับเมนูขายดี เห็นเจ้าของร้าน บอกว่า เป็นน้ำพริกกุ้งเสียบ เพราะมีหลายรสชาติ นั่นคือ หวาน เค็ม มัน มีส่วนผสมหลายอย่าง ทั้ง สมุนไพรไทย เนื้อกุ้ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ รองลงมา เป็นน้ำพริกนรก ส่วนเมนูอื่น จำหน่ายได้เรื่อยๆ



ทางด้านการคืนทุน ตอนนี้ยังไม่คืนเงินต้น แต่สร้างรายได้ให้คุณตงทุกวัน นั่นคือ น้ำพริก 1 กระปุก ได้กำไร กระปุกละ 5 บาท “น้ำพริก บรรจุ 1 ขีด ราคาส่ง 15 บาท ขายปลีก กระปุกละ 20 บาท เป็นค่าบรรจุภัณฑ์ 3 บาท ค่าวัตถุดิบ 5 บาท และค่าการตลาด เบ็ดเสร็จ เหลือกำไร กระปุกละ 5 บาท”



แม้เพิ่งเริ่ม สร้างธุรกิจ แต่สิ่งที่สองสามีภรรยาตั้งเป้าหมายไว้ในอนาคตคือ จะขยายกิจการในรูปแบบเพิ่มพนักงาน เพิ่มเครื่องจักร นำสินค้าไปจำหน่ายจังหวัดอื่น พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีสีสันสวยงาม เพิ่มเมนูให้มีความหลากหลาย ส่วนกิจการกระจกโครงอะลูมิเนียม ยังคงไม่ทิ้ง เพราะมีงานเข้ามาเรื่อยๆ



นับว่า บริหาร 2 กิจการควบคู่ได้อย่างลงตัว สำหรับคุณตงและภรรยา เพราะต่างคนมีความชอบ และถนัด คนละแบบ ฝ่ายชายถนัดงานช่าง ฝ่ายหญิงเข้าครัวปรุงน้ำพริก



สนใจ อุดหนุน น้ำพริก คุณวิไลวรรณ หรือบริการงานกระจก อะลูมิเนียม มุ้งลวด งานเหล็กทุกชนิด ติดต่อ ที่ โทรศัพท์ (084) 198-3803, (084) 748-9777







น้ำพริกตาแดง สูตรทำขาย



ส่วนผสม



หอมแดง 1.5 กิโลกรัม



กระเทียม 2 กิโลกรัม



กะปิ 500 กรัม



น้ำตาลปี๊บ 700 กรัม



มะขามเปียก 1 กิโลกรัม



เกลือ 100 กรัม



กุ้งแห้งป่น 500 กรัม



พริกขี้หนูแห้ง 500 กรัม



คนอร์ 200 กรัม



ปลาน้ำดอกไม้ 500 กรัม



วิธีทำ



1. ปอกหอมแดง กระเทียม พริกขี้หนูแห้ง คั่วให้หอม และบดละเอียด



2. ต้มปลาน้ำดอกไม้ให้สุก แกะเอาแต่เนื้อ บดกับมะขามเปียกให้ละเอียด



3. นำส่วนผสมข้อ 1 และข้อ 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เกลือ น้ำปลา กะปิ จากนั้นลงผัดให้หอม โดยใช้ไฟอ่อน ผัดต่อประมาณ 1 ชั่วโมง จนรู้สึกว่าน้ำพริกค่อนข้างแห้ง



4. ตักน้ำพริกขณะยังร้อน ใส่ขวดแก้ว กระปุก หรือถุงพลาสติค ที่สะอาด ปิดฝาให้สนิท คว่ำขวดลง 5 นาที กลับขึ้นนำไปลวกน้ำร้อน และทิ้งขวดให้แห้งสนิท



*** หมายเหตุ สูตรน้ำพริกตาแดงดังกล่าวสามารถทำน้ำพริกได้ 6.5 กิโลกรัม



น้ำพริกแมงดา สูตรทำขาย



ส่วนผสม



หอมแดง 1.5 กิโลกรัม



กระเทียม 1.5 กิโลกรัม



กะปิ 500 กรัม



น้ำตาลปี๊บ 700 กรัม



มะขามเปียก 1 กิโลกรัม



เกลือ 100 กรัม



กุ้งแห้งป่น 500 กรัม



พริกขี้หนูแห้ง 500 กรัม



คนอร์ 200 กรัม



ปลาน้ำดอกไม้ 500 กรัม



กลิ่นแมงดา 4-5 ขวด



แมงดาปิ้งไฟ



น้ำปลา



วิธีทำ



1. ปอกหอมแดง กระเทียม พริกขี้หนูแห้ง คั่วให้หอม ส่วนแมงดาปิ้งไฟ นำมาบดเข้ากันให้ละเอียด



2. ต้มปลาน้ำดอกไม้ให้สุก แกะเอาแต่เนื้อ บดกับมะขามเปียกให้ละเอียด



3. นำส่วนผสมข้อ 1 และข้อ 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เกลือ น้ำปลา จากนั้นลงผัดให้หอม โดยใช้ไฟอ่อนผัดต่อประมาณ 1 ชั่วโมง จนรู้สึกว่าน้ำพริกค่อนข้างแห้ง เพราะน้ำพริกยิ่งแห้งจะเก็บรักษาได้นานขึ้น



4. เมื่อผัดจนแห้งได้ที่ ใส่กลิ่นแมงดา พร้อมแมงดาที่ปิ้งแล้วลงคลุกให้ทั่ว



5. ใช้ขวดแก้ว กระปุก หรือพลาสติคแข็งที่ทนความร้อน บรรจุน้ำพริกลงไปขณะยังร้อน ปิดฝาให้สนิท คว่ำขวดลง 5 นาที กลับขึ้นนำไปลวกน้ำร้อน และทิ้งขวดให้แห้งสนิท



*** หมายเหตุ สูตรน้ำพริกแมงดานี้ สามารถทำน้ำพริกได้ 6.5 กิโลกรัม



ข้อมูลจำเพาะ



กิจการ บริการงานกระจก อะลูมิเนียม มุ้งลวด งานเหล็กทุกชนิด และจัดจำหน่ายน้ำพริกยี่ห้อ “คุณวิไลวรรณ”



เจ้าของกิจการ คุณสุธาเสก ชวนรุ่งเรือง หรือ คุณตง และ คุณวิไลวรรณ คำเวียงจันทร์ หรือ คุณหน่อย



ลักษณะกิจการ ครอบครัว



เงินลงทุน งานอะลูมิเนียม 300,000 บาท น้ำพริก 50,000 บาท



จุดเด่น นอกจากรสชาติที่ดีแล้ว ยังปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ได้รับเครื่องหมาย อย.



รูปแบบการขาย ขายส่ง ขายปลีก



สถาน ที่จำหน่าย ออกงานกับหน่วยงานภาครัฐ ออกบู๊ธตามอำเภอ ขายตามตลาดนัด ฝากขายตามร้านขายของที่ระลึก ร้านขายของชำ ออกโฆษณาวิทยุชุมชน ลูกสาวคนโตช่วยนำไปจำหน่ายที่ทำงาน



ราคา ขายส่งกระปุกละ 15 บาท ขายปลีก 20 บาท



กำลังการผลิต ผัดน้ำพริกได้ วันละ 12-15 กิโลกรัม



กำไร กระปุกละ 5 บาท



โทรศัพท์ (084) 198-3803, (084) 748-9777

การบรรจุหีบห่อและการเก็บรักษา น้ำพริก ให้ได้นาน

การบรรจุหบห่อและ


การเก็บรักษา





--------------------------------------------------------------------------------

ภาชนะบรรจุ และวิธีการบรรจุ ที่สะอาด และถูกหลักอนามัย จะปลอดภัยต่อ ชีวิตผู้บริโภค และไม่มีผลทำลาย สิ่งแวดล้อม

















การบรรจุหีบห่อและการเก็บรักษา



1. ความสำคัญของการบรรจุหีบห่อและการเลือกภาชนะบรรจุ



ความสำคัญของการบรรจุหีบห่อ

การบรรจุหีบห่อมีความสำคัญต่อสินค้าทุกประเภท เพราะช่วยป้องกัน และรักษาคุณภาพของสินค้าให้เหมือนเดิม มากที่สุดสะดวก ต่อการ ขนส่ง การเก็บรักษา ทั้งยังเป็นตัวกลาง ในการให้ข้อมูล เกี่ยวกับสินค้า ที่บรรจุภายใน นอกจากนี้การบรรจุหีบห่อ ยังเป็นการส่งเสริม การขาย อีกวิธีหนึ่งด้วย



การเลือกภาชนะบรรจุ

ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำพริกเมืองเหนือนิยมใช้ใบตอง ถุงพลาสติก สำหรับการขายปลีกหรือการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ระยะเวลา ในการขนส่งหรือการจำหน่ายอยู่ในระยะสั้นการใช้ใบตองห่อ เป็นการ บรรจุหีบห่อที่มีมาแต่โบราณ เป็นวิธีบรรจุหีบห่อ ที่ปลอดภัย ต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลด ขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายยาก จำพวก พลาสติก ชนิดต่าง ๆ



สำหรับการขายส่ง ตามห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ นิยมบรรจุ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ซึ่งจะใช้ขวดที่มีลักษณะ ปากกว้าง สามารถ ใช้ช้อนหรือ อุปกรณ์อื่นตักออกจากขวดได้



2. วิธีบรรจุน้ำพริกเมืองเหนือ



ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีบรรจุน้ำพริกเมืองเหนือโดยใช้ขวดแก้ว เพื่อ จำหน่ายส่ง และให้สามารถเก็บไว้ได้นาน



อุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุขวด



1. หม้อนึ่งหรือรังถึง เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อและไล่อากาศ

2. กรวยสำหรับบรรจุน้ำพริกลงขวด และทัพพีที่ผ่านการ ลวกน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้ว

3. ขวดสำหรับบรรจุ



วิธีบรรจุ

ทำความสะอาดภาชนะบรรจุโดยการนึ่งในรังถึง แล้วบรรจุน้ำพริก ลงให้เต็มขวด ไม่ต้องอัดให้แน่น เว้นที่ว่างจากขอบ บนปากขวด ประมาณ 1 นิ้ว เช็ดปากขวดให้สะอาด นำไปนึ่งนาน 10-15 นาที แล้วนำออกมา ปิดฝาให้แน่นทันที เช็ดขวดให้แห้ว เก็บไว้ใน ที่อากาศเย็น ไม่อบอ้าว ห่างไกลจาก แสงสว่าง ปิดฉลากแสดงชื่ออายุ และรายละเอียดของน้ำพริกนั้น ๆ นำออกจำหน่าย







3. วิธีเก็บรักษาน้ำพริกเมืองเหนือ







น้ำพริกเมืองเหนือประเภทแห้ง เช่น น้ำพริกแดง จะเก็บได้นาน กว่า น้ำพริกเมืองเหนือประเภทที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำพริกหนุ่ม และน้ำพริกอ่อง



โดยปกติแล้วน้ำพริกเหนือประเภทแห้งจะเก็บได้ประมาณ 5 วัน แต่ถ้าเก็บในตู้เย็นสามารถเก็บได้ประมาณ 1-2 เดือน



สำหรับน้ำพริกเมืองเหนือที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ จะเก็บได้ ประมาณ 1 วัน ถ้าเก็บ ในตู้เย็นเก็บได้ไม่เกิน 5 วัน ถ้าเกินกว่านี้ ก็จะมีกลิ่นบูดเน่า รสชาติจะไม่อร่อย



ฉะนั้น น้ำพริกเมืองเหนือที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ นิยมทำขาย กันสด ๆ เพราะจะได้น้ำพริกที่มีรสชาติดีอร่อย

วิธีทำกิมจิ

ส่วนผสมกิมจิ: ผักกาดขาว 2 หัว, เกลือป่น, น้ำเปล่า 2 ลิตร, พริกชี้ฟ้าแดง 100 กรัม, ขิงอ่อน 20 กรัม, กระเทียม 10 กรัม, ต้นหอม 100 กรัม, น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ




วิธีทำกิมจิ

ภาพกิมจิ

1. ล้างผักกาดขาวให้สะอาด ผ่าครึ่ง

2. ผสมน้ำเปล่า เกลือป่น 40 กรัม ให้เป็นน้ำเกลือ ชิมรสให้ออกเค็มเล็กน้อย

3. นำผักกาดขาวที่ผ่าครึ่งไว้มาแช่น้ำเกลือนานประมาณ 6 – 8 ชั่วโมงจนผักสลดจึงนำขึ้น

4. โขลกพริกชี้ฟ้าแดง กระเทียม ขิง ให้ละเอียด ปรุงรสด้วย เกลือป่น น้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู

5. หั่นต้นหอมเป็นท่อนยาวประมาณ 1 นิ้ว และหั่นผักกาดขาวที่แช่น้ำเกลือไว้เป็นชิ้นพอคำ

6. ผสมต้นหอม ผักกาดขาวและน้ำที่ได้ในข้อที่ 4 หมักทิ้งไว้อย่างน้อย 3 วัน



หมายเหตุ: หากเป็นสูตรต้นตำรับจะใช้วิธีการหมักที่นานขึ้นประมาณ 3 สัปดาห์และไม่ต้องใส่น้ำส้มสายชู และสามารถใส่ขิงอ่อนหั่นฝอยได้หากชอบ

เปิดตำนานน้ำพริก 28 ครกแห่ง OSK ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช




โดย ลัดดา ผู้จัดการ Online วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2546



วันนี้ดูอะไรทั่วไปแล้วก็เห็นจะต้องเขียนถึง “น้ำพริกแห่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” อีกสักวันหนึ่งเป็นไง? ซึ่งความจริงออกจะไม่เสียหายอะไร เพราะยังมีคนชอบอ่าน เพราะยังมีคนคอยอ่านอยู่มากพอสมควร

ลัดดา ยังจำได้... ยังจำได้ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดว่ามีคนเขาหาว่าตัวผมนั้น เวลาไม่มีเรื่องจะเขียนหนังสือเข้าก็หันไปเขียนตำราตำน้ำพริก ซึ่งข้อนี้ก็ขอยอมรับว่าเป็นความจริง



กระนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ไม่วายขอแก้ตัวสักนิดหนึ่งว่า... น้ำพริกนั้น นอกจากจะเป็นกับข้าวของไทยแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมไทยอีกอย่างหนึ่ง คนไทยต้องรู้จักน้ำพริก

ต้องรับประทานน้ำพริกให้เป็น หมายความว่าจะต้องรู้วิธีว่าจะเอาอะไรจิ้มกับน้ำพริก แนมด้วยปลาดุกย่าง ปลาทูทอดอย่างไร เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมไทยซึ่งมีมาแต่โบร่ำโบราณทั้งสิ้น ถ้าไม่มีใครรักษาไว้ก็คงจะหายไป



ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกกับลัดดาด้วยว่า



ทุกวันนี้ คนที่ตำน้ำพริกกินเองก็น้อยลงไปทุกทีแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะรักษาวัฒนธรรมเรื่องน้ำพริกเอาไว้ในครอบครัวก็เห็นจะยากเข้าทุกวัน ท่านจึงเห็นว่าทางดีที่สุดก็ต้องเขียนไว้เป็นหนังสือแทนที่จะจดจำกันด้วยสมอง เพราะจะลืมง่าย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังบอกกับลัดดาด้วยว่า



นอกจากน้ำพริกจะเป็นกับข้าวขั้นพื้นฐานของกับข้าวไทย ใช้รับประทานกับผักให้เป็นเครื่องนำ ให้ได้กินผักสดมากๆ แล้วน้ำพริกนั้นเองยังเป็นศูนย์ของสำรับ ซึ่งมีกับข้าวหลายอย่าง น้ำพริกนั้นจะต้องอยู่กลางและกับข้าวอื่นๆ ที่มาแวดล้อมประกอบเป็นสำรับนั้น ในการทำต้องคำนึงถึงน้ำพริกหรือเครื่องจิ้มก่อนว่าเป็นอะไร ถ้าเป็นน้ำพริกกะปิเฉยๆ ก็คิดกับข้าวให้แนมกับน้ำพริกกะปินั้น ถ้าเป็นน้ำพริกส้มมะขามก็ต้องเปลี่ยนกับข้าวไปบ้าง ยังแยกออกไปว่าส้มมะขามเปียกหรือส้มมะขามสดอีก ถ้าเป็นเครื่องหลนเช่น ปลาร้าหลน เต้าเจี้ยวหลน ปลาเจ่าหลน การคิดกับข้าวก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ตามแต่เครื่องจิ้มที่อยู่กลางสำรับนั้น



มา ณ วันนี้ น่ายินดีที่สำนักพิมพ์ครัวบ้านและสวน หนังสือในเครืออมรินทร์ที่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์งานอันทรงคุณค่าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยเรื่องน้ำพริก



ผลงานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์อยู่ในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู’ หนังสือพิมพ์ ‘สยามรัฐ’ และเขียนต่อเนื่องกันตลอดมาจนสามารถรวบรวมได้เป็นเล่มพอเหมาะ และทางสำนักพิมพ์ ‘สยามรัฐ’ ได้เคยรวมเล่มแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งปัจจุับันขาดหายไปจากตลาดแล้ว ทางสำนักพิมพ์ครัวบ้านและสวน โดย องอาจ จิระอร ได้นำมารวบรวมและจัดรูปเล่มขึ้นใหม่ เพื่อความกะทัดรัดและสวยงามมากยิ่งขึ้น



เป็นความกะทัดรัดและสวยงามมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากโรงแรมโรสการ์เด้นท์ สวนสามพราน ของคุณสุชาดา ยุวบูรณ์ ที่รับจัดการเป็นธุระดูแลในการตระเตรียมข้าวของอุปกรณ์ในการตำน้ำพริกตามตำราของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างสมบูรณ์เช่น ที่บอกไว้ในหนังสือและฝีมือ การตำน้ำพริกประมาณ 28 ครก ที่ปรากฏเป็นภาพในหนังสือเล่มนี้ก็คือ ฝีมือตำของคุณภัทนา บุนนาค ที่ทำให้รสชาติของน้ำพริกนั้นเป็นจริงขึ้นมา



เป็นต้น น้ำพริกนครบาล น้ำพริกใบมะขามอ่อน น้ำพริกเต้าเจี้ยว น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกกระท้อน น้ำพริกมะขามสด น้ำพริกส้มมะขาม น้ำพริกมะเขือขื่น น้ำพริกผักชี น้ำพริกไข่ปูทะเล น้ำพริกไข่เค็ม น้ำพริกป่า น้ำพริกแมงดา น้ำพริกลูกหนำเลี๊ยบ น้ำพริกเต้าหู้ยี้ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกผักทอด น้ำพริกผักต้ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกไทยสด น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกเผา น้ำพริกซ่า น้ำพริกขี้กา และน้ำพริกก้อย

My Blog List