Monday, April 18, 2011

เปิดตำนานน้ำพริก 28 ครกแห่ง OSK ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช




โดย ลัดดา ผู้จัดการ Online วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2546



วันนี้ดูอะไรทั่วไปแล้วก็เห็นจะต้องเขียนถึง “น้ำพริกแห่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” อีกสักวันหนึ่งเป็นไง? ซึ่งความจริงออกจะไม่เสียหายอะไร เพราะยังมีคนชอบอ่าน เพราะยังมีคนคอยอ่านอยู่มากพอสมควร

ลัดดา ยังจำได้... ยังจำได้ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดว่ามีคนเขาหาว่าตัวผมนั้น เวลาไม่มีเรื่องจะเขียนหนังสือเข้าก็หันไปเขียนตำราตำน้ำพริก ซึ่งข้อนี้ก็ขอยอมรับว่าเป็นความจริง



กระนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ไม่วายขอแก้ตัวสักนิดหนึ่งว่า... น้ำพริกนั้น นอกจากจะเป็นกับข้าวของไทยแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมไทยอีกอย่างหนึ่ง คนไทยต้องรู้จักน้ำพริก

ต้องรับประทานน้ำพริกให้เป็น หมายความว่าจะต้องรู้วิธีว่าจะเอาอะไรจิ้มกับน้ำพริก แนมด้วยปลาดุกย่าง ปลาทูทอดอย่างไร เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมไทยซึ่งมีมาแต่โบร่ำโบราณทั้งสิ้น ถ้าไม่มีใครรักษาไว้ก็คงจะหายไป



ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกกับลัดดาด้วยว่า



ทุกวันนี้ คนที่ตำน้ำพริกกินเองก็น้อยลงไปทุกทีแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะรักษาวัฒนธรรมเรื่องน้ำพริกเอาไว้ในครอบครัวก็เห็นจะยากเข้าทุกวัน ท่านจึงเห็นว่าทางดีที่สุดก็ต้องเขียนไว้เป็นหนังสือแทนที่จะจดจำกันด้วยสมอง เพราะจะลืมง่าย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังบอกกับลัดดาด้วยว่า



นอกจากน้ำพริกจะเป็นกับข้าวขั้นพื้นฐานของกับข้าวไทย ใช้รับประทานกับผักให้เป็นเครื่องนำ ให้ได้กินผักสดมากๆ แล้วน้ำพริกนั้นเองยังเป็นศูนย์ของสำรับ ซึ่งมีกับข้าวหลายอย่าง น้ำพริกนั้นจะต้องอยู่กลางและกับข้าวอื่นๆ ที่มาแวดล้อมประกอบเป็นสำรับนั้น ในการทำต้องคำนึงถึงน้ำพริกหรือเครื่องจิ้มก่อนว่าเป็นอะไร ถ้าเป็นน้ำพริกกะปิเฉยๆ ก็คิดกับข้าวให้แนมกับน้ำพริกกะปินั้น ถ้าเป็นน้ำพริกส้มมะขามก็ต้องเปลี่ยนกับข้าวไปบ้าง ยังแยกออกไปว่าส้มมะขามเปียกหรือส้มมะขามสดอีก ถ้าเป็นเครื่องหลนเช่น ปลาร้าหลน เต้าเจี้ยวหลน ปลาเจ่าหลน การคิดกับข้าวก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ตามแต่เครื่องจิ้มที่อยู่กลางสำรับนั้น



มา ณ วันนี้ น่ายินดีที่สำนักพิมพ์ครัวบ้านและสวน หนังสือในเครืออมรินทร์ที่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์งานอันทรงคุณค่าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยเรื่องน้ำพริก



ผลงานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์อยู่ในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู’ หนังสือพิมพ์ ‘สยามรัฐ’ และเขียนต่อเนื่องกันตลอดมาจนสามารถรวบรวมได้เป็นเล่มพอเหมาะ และทางสำนักพิมพ์ ‘สยามรัฐ’ ได้เคยรวมเล่มแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งปัจจุับันขาดหายไปจากตลาดแล้ว ทางสำนักพิมพ์ครัวบ้านและสวน โดย องอาจ จิระอร ได้นำมารวบรวมและจัดรูปเล่มขึ้นใหม่ เพื่อความกะทัดรัดและสวยงามมากยิ่งขึ้น



เป็นความกะทัดรัดและสวยงามมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากโรงแรมโรสการ์เด้นท์ สวนสามพราน ของคุณสุชาดา ยุวบูรณ์ ที่รับจัดการเป็นธุระดูแลในการตระเตรียมข้าวของอุปกรณ์ในการตำน้ำพริกตามตำราของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างสมบูรณ์เช่น ที่บอกไว้ในหนังสือและฝีมือ การตำน้ำพริกประมาณ 28 ครก ที่ปรากฏเป็นภาพในหนังสือเล่มนี้ก็คือ ฝีมือตำของคุณภัทนา บุนนาค ที่ทำให้รสชาติของน้ำพริกนั้นเป็นจริงขึ้นมา



เป็นต้น น้ำพริกนครบาล น้ำพริกใบมะขามอ่อน น้ำพริกเต้าเจี้ยว น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกกระท้อน น้ำพริกมะขามสด น้ำพริกส้มมะขาม น้ำพริกมะเขือขื่น น้ำพริกผักชี น้ำพริกไข่ปูทะเล น้ำพริกไข่เค็ม น้ำพริกป่า น้ำพริกแมงดา น้ำพริกลูกหนำเลี๊ยบ น้ำพริกเต้าหู้ยี้ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกผักทอด น้ำพริกผักต้ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกไทยสด น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกเผา น้ำพริกซ่า น้ำพริกขี้กา และน้ำพริกก้อย

No comments:

Post a Comment

My Blog List